Knowledge


คลังความรู้

BCG คืออะไร? และสำคัญอย่างไร?


            ปัจจุบันความเจริญและความทันสมัยของโลกในหลายๆด้าน ได้นำไปสู่ปัญหาความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมโลกเพิ่มมากขึ้น ทำให้การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน มีความเสี่ยงจากผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ความผันผวน การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบจากปัญหาสังคมต่างๆ ตามไปด้วย

            ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีรายได้น้อย GDP ชะลอตัว ทำให้รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยปรับเปลี่ยนโมเดลรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model ซึ่งจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงและเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ

            ดังนั้นธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีและสร้างความสมดุลให้ “เศรษฐกิจสามารถเติบโตไปควบคู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน” โดยมีรากฐานทำธุรกิจที่ใช้หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ที่ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ใช้ความรู้และคุณธรรม เพื่อให้ธุรกิจเกิดการพึ่งพาตัวเองได้ และแบ่งปันไปถึงสังคม

 BCG คืออะไร?


            BCG เป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่ภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญ เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environment) การลดปัญหาโลกร้อน (Global Warming) ที่กำลังเป็นตัวบั่นทอนทรัพยากรโลก เน้นพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างทั่วถึงบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน
(Sustainable Development) โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) มี 3 องค์ประกอบสำคัญด้วยกันคือ

B = Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ  คือ การนำทรัพยากรชีวภาพมา “ผลิตให้คุ้มค่าที่สุด” ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง

C = Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน  มีแนวทางคือ “การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด” ของที่ใช้ในการผลิตต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycle, Upcycle)

G = Green economy เป็นระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมรวมถึงการจัดการสภาพสังคมให้ “กระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด (Zero-Waste)”

            โดยการพัฒนา BCG จะมุ่งเน้นการพัฒนาจากทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านกระบวนการผลิต และในการนำไปใช้ ซึ่งจะเน้นเป้าหมายรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างก้าวกระโดด และช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม เพิ่มรายได้ของประชากรได้มากขึ้น  ที่เรียกว่า New S-Curve กับอุตสาหกรรม 4 ด้าน ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร นับเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป เราคงต้องปรับตัว และตัวแปรที่จะพาไทยไปได้คือเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ด้านการเกษตร อาจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดความแม่นยำมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตจากการเพาะปลูก สำหรับด้านอาหาร อาจมองไปถึงการพัฒนาอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะบุคคล เป็นต้น
  2. อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ หนึ่งสิ่งที่หลายภาคส่วนพยายามทำ คือ การใช้เทคโนโลยีแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งเป็นพลังงานชีวภาพ หรือนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
  3. อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เช่น การพัฒนาสมุนไพรที่มีอยู่ในประเทศให้มีคุณภาพมากขึ้นและปลอดภัย หรือต่อยอดการแพทย์ปัจจุบัน เช่น การนำเทคโนโลยีเข้ามาตรวจพันธุกรรมเพื่อให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น
  4. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มุ่งเน้นให้เกิดการเติบโตของภาคท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม และคำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น โดยมีเป้าหมายคือลดความเหลื่อมล้ำและมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงไปสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชน หรือส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง

ประโยชน์ของ BCG

 ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สรุปไว้ว่า BCG Economy Model จะช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในหลายมิติ และหลายด้าน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

-ด้านเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้านำแนวคิดเรื่อง BCG มาใช้ จะช่วยลดภาวะการว่างงาน และทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านเกษตรอาหาร

-ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารในระดับที่ดี ในแง่ของการผลิต ไทยผลิตอาหารได้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ผลิตอาหารประเภทส่วนเกิน คือ กลุ่มอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล ในจำนวนมาก ขณะที่อาหารประเภทโปรตีน กลับผลิตได้ไม่เพียงพอ จึงต้องพยายามปรับให้การผลิตอาหารประเภทส่วนเกินมาเป็นอาหารประเภทโปรตีน เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ ด้วยการนำแนวทาง BCG เข้าไปช่วย และทำให้กลุ่มคนทุกระดับ ได้รับสารอาหาร และสามารถเข้าถึงอาหารได้ เกิดความมั่นคงด้านอาหาร

-ด้านพลังงาน ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแก๊สธรรมชาติมาก ใช้ในการผลิตไฟฟ้า 60% และมีแนวโน้มว่าจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในอนาคต BCG จะเข้ามาช่วยให้ไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน

-ด้านสุขภาพ ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มยา และเวชภัณฑ์ ในปัจจุบันทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมกำลังศึกษาเรื่องการผลิตยา เช่น ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อลดการนำเข้ายาในอนาคต

-ด้านความยั่งยืน เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ คาดหวังว่าเมื่อทำ BCG ได้แล้ว จะสามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลงไป อีกทั้งยังสามารถลดมลพิษ เช่น PM 2.5 ขยะ น้ำเสีย การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลสัตว์สูญพันธุ์

-ด้านการท่องเที่ยว ในรูปแบบเดิมอาจทำให้ธรรมชาติสึกหรอ แต่เมื่อมีการวางแผนการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลธรรมชาติ จะทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

            ทั้งนี้ ที่ประชุมฯได้เห็นชอบกรอบแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 ยกเป็น “วาระแห่งชาติ” สำหรับการดำเนินวิถีชีวิตใหม่หลังการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (Post COVID-19 Strategy)

BCG ปรับใช้อย่างไร

            รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยเราจะเป็นหนึ่งในแกนนำของโลก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ BCG เพื่อความยั่งยืน และการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนโดยประโยชน์จะช่วยในการส่งเสริม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกร จนภาคธุรกิจภายในประเทศ พร้อมกับดึงดูดภาคเอกชนจากต่างประเทศมาร่วมกันพัฒนา ในอนาคต โดยขับเคลื่อนประเทศด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

            การพัฒนาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ต้องก้าวข้ามปัญหา อุปสรรคต่างๆ อาทิ ปัญหาทรัพยากรเสื่อมโทรม ขยะล้นเมือง โลกร้อน รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ไม่เพิ่มขึ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งขับเคลื่อน BCG โมเดล รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึง บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตัวโมเดลนี้จะเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด และมีการตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะช่วยเพิ่ม GDP ของไทย เป็น 4.3 ล้านล้านบาท ที่สำคัญจะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมของไทยให้สมบูรณ์  สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ของสหประชาชาติอันเป็นการนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(พ.ศ. 2561-2580)

            INNO ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Economy Model  อาทิ ด้านพลังงาน อินโนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างโซลาร์เซลล์ เพื่อช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในระยะยาว  ด้านความยั่งยืนคำนึงถึงความสำคัญของ น้ำ อากาศ แสง  สภาพแวดล้อม และจิตใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อสุขภาวะที่ดี ( Well-being) ในด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมไปถึงสุขภาวะทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่อย่างมีความสุขและยั่งยืน เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างทั่วถึงบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมาย (Sustainable Development Goals–SDGs)

            บริษัท อินโนเวชั่น เทคโนโลยี จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษางานระบบวิศวกรรม และบริหารงานบำรุงรักษาซ่อมแซมงานระบบวิศวกรรม งานบริหารการจัดการพลังงานภายในอาคาร รวมถึงบริการอบรมด้าน ESG สนใจติดต่อเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02 941 4080 หรือคลิกที่นี่เพื่อให้เราติดต่อกลับ