Knowledge


คลังความรู้

มาทำความรู้จักกับ รถ EV รถยนต์ไฟฟ้า


                วิกฤตสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและสภาวะอากาศของโลก จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) พบว่า ในระหว่างปี ค.ศ. 2015-2020 ที่ผ่านมายังเป็นช่วง 6 ปีที่ร้อนที่สุดของโลกโดยคาดการณ์ว่าในอนาคตโลกยังคงจะร้อนขึ้นได้อีกอย่างน้อยปีละ 1 องศาเซลเซียสโดยสาเหตุหลัก ๆ ล้วนมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงในรูปแบบต่าง ๆ การเติบโตของภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการคมนาคมขนส่ง หากเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆอาจจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ที่ยากต่อการแก้ไข เพราะฉะนั้นทั่วโลกร่วมจัดการประชุมระดับนานาชาติขึ้นเพื่อหาแนวทางยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ โดยหลายประเทศได้มีการลงนามรับรอง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันคือ Net Zero ให้สำเร็จ ภายในปี ค.ศ.2065 โดยการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติม และหนึ่งยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อให้ถึงเป้าหมาย คือการลดและงดใช้ยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในคือเครื่องยนต์ที่มีการระเบิดหรือเผาไหม้ส่วนผสมของเชื้อเพลิงที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
               รถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle เพิ่งจะมาเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา และยิ่งถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และจะกลายมาเป็นยานพาหนะหลักที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เพื่อทดแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน ด้วยคุณสมบัติ ช่วยลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท

1.ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ (HEV, Hybrid electric vehicle) 

รถยนต์ไฮบริด เป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบบลูกผสม (Hybrid) มีทั้งเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปและมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่ จึงมีความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำกว่ายานยนต์ปกติ รวมทั้งยังสามารถนำพลังงานกลที่เหลือหรือไม่ใช้ประโยชน์เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บในแบตเตอรี่  แต่ไม่มีช่องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟฟ้า  

ตัวอย่าง รุ่นรถยนต์ Hybrid ที่มีการวางจำหน่ายในไทย
▪️ Toyota Camry Hybrid, Toyota C-HR Hybrid, Toyota Alphard Hybrid, Toyota CHR Hybrid Toyota Prius, Toyota Altis Hybrid
▪️ Honda Accord Hybrid
▪️ Nissan X-Trail Hybrid
 

2.ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV, Plug-in Hybrid Electric Vehicle) 

เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาต่อยอดมาจาก HEV ซึ่งมีการทำงานทั้ง 2 ระบบ (น้ำมันและไฟฟ้า) แต่เพิ่มระบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟขึ้นมา (plug-in) การอัดประจุไฟฟ้าจากภายนอกและนำมาเก็บไว้ที่แบตเตอรี่นั้น ทำให้ PHEV สามารถวิ่งได้ในระยะทางที่ไกลกว่า HEV 

ตัวอย่าง รุ่นรถยนต์ Plug-in Hybrid ที่มีการวางจำหน่ายในไทย
▪️ กลุ่ม Mercedes plug-in hybrid
▪️ BMW plug-in hybrid
▪️ Audi plug-in hybrid เป็นต้น   

3.ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV, Battery Electric Vehicle) 

เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยไอเสียออกมาเลย เนื่องจากเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และใช้พลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้า ซึ่งมาจากการเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าอย่างเดียว  ไม่มีการปล่อยมลพิษทางอากาศจากยานยนต์โดยตรง

ตัวอย่าง รุ่นรถยนต์ Battery Electric Vehicle ที่มีการวางจำหน่ายในไทย
▪️ Tesla 
▪️ Nissan Leaf, MG ZS EV
▪️ Hyundai IONIQ EV, 
▪️ BMW i3, Kia Soul EV, BYD E6, Audi e-tron  เป็นต้น  

4.ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV, Fuel Cell Electric Vehicle)  

ไฟฟ้าที่มีเซลล์เชื้อเพลิง เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้พลังงานมาจากเซลล์เชื้อเพลิง (fue8 l cell) โดยเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากภายนอก มีความจุพลังงานจำเพาะที่สูงกว่าแบตเตอรี่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เชื่อว่าเป็นคำตอบที่แท้จริงของพลังงานสะอาดในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดอย่างสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Station) มีน้อยมาก เหมือนที่รถ BEV มี Charging Station ที่น้อยเมื่อหลายปีก่อน

ตัวอย่าง รุ่นรถยนต์ Fuel Cell Electric Vehicle ที่มีการวางจำหน่ายในไทย
▪️ Toyota Mirai
▪️ Hyundai Nexo
▪️ Honda Clarity Fuel Cell
 

นอกเหนือจากเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้วรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังมีข้อดีอื่นๆ อีกดังนี้ 

  1. ความเงียบและอัตราเร่งที่ได้ดั่งใจ

เนื่องจากกลไกในการขับเคลื่อนไม่ต้องใช้การจุดระเบิดเพื่อเผาไหม้ จึงทำให้ไม่มีเสียงเวลาขับ แถมยังออกตัวได้ไวอีกด้วย 

  1. ประสิทธิภาพสูงกว่า รถยนต์ไฟฟ้าใช้มอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งมีแรงบิดมากกว่าโดยเริ่มตั้งแต่ออกตัว เพราะไม่มีขั้นตอนการทดเกียร์อีกต่อไป ทำให้อัตราเร่งได้ดั่งใจของคนขับดีกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน
    3. ประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าซ่อมบำรุง
    นอกจากจะประหยัดค่าน้ำมันแล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลอีกด้วย เพราะรถยนต์ไฟฟ้ามีกลไกในการขับเคลื่อนไม่มากเท่ารถที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน จึงทำให้ไม่ต้องคอยบำรุงรักษา หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง จึงทำให้การดูแลง่ายยิ่งขึ้น
    4. ไม่ต้องเสียเวลาไปปั๊มน้ำมันเพราะสามารถชาร์จแบตได้ที่บ้าน รถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้น สามารถชาร์จแบตได้ที่บ้าน ซึ่งสามารถชาร์จได้ระหว่างที่นอนหลับ เมื่อตื่นเช้ามารถก็จะอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่ต้องกังวลเรื่องการเสียเวลาที่สถานีบริการน้ำมันอีกต่อไป 

จากข้อดีเหล่านี้จึงทำให้รัฐบาลหลายๆ ประเทศ ต่างพากันสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ จีน เยอรมนี อังกฤษ หรือญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอยู่และพยายามที่จะผลักดันนโยบายให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากลายเป็นรถยนต์แห่งอนาคตที่ทั้งโลกหันมาใช้ และสำหรับประเทศไทยนั้นก็มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อยู่บ้างแล้ว เช่น  ทางด้านรัฐบาลไทยเองก็สนับสนุนเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน โดยมีมาตรการดังนี้ 

  1. เงินอุดหนุนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลEV และรถกระบะ EV คันละ 70,000-150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ EV 18,000 บาท/คัน
  2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8 % เป็น 2 % และรถกระบะ เป็น 0 %
  3. ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ และนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40 % สำหรับรถยนต์ ถึงปี 2566
  4. ยกเว้นอากรขาเข้าส่วนประกอบรถยนต์ EV จำนวน 9 รายการ เพื่อนำมาผลิตหรือประกอบรถ EV ในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ

                ทั้งนี้มาตรการของรัฐบาล ไม่ว่าเงินอุดหนุนค่ายรถให้นำไปเป็นส่วนลดแก่ประชาชนที่สนใจซื้อรถEV การลดภาษีนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน ลดภาษีนำเข้าส่วนประกอบต่างๆ ล้วนทำให้ราคารถ EV ถูกลง เฉลี่ยแล้วถูกลง 3 แสนบาทต่อคัน ประชาชนจึงจับต้องได้มากขึ้น เพิ่มการติดตั้งจุดชาร์จไฟสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับนโยบายของบริษัทจำหน่ายรถยนต์ได้มีการขานรับมาตรการของรัฐบาลเช่นกัน เช่น Toyota Motor Thailand ประกาศเดินหน้าทำ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมผลักดันให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยเร็วที่สุดโดยรถรุ่นแรกที่จะนำเข้ามาทำตลาดคือ bZ4X  รวมทั้ง บริษัท เทสลา (Tesla) ได้เข้ามาตั้งบริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด  ในประเทศไทย การเข้ามาของเทสลาครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายใหม่ของรัฐบาลไทยที่ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น 

                รถ EV หรือ รถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง 4 ประเภทแม้จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน แต่ทุกประเภทมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ มุ่งลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะโลกร้อน  ถึงรถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในระยะยาว รถยนต์ไฟฟ้านับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และเราหวังว่าการสนับสนุนจากรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นมาตรการต่างๆที่ออกมาในข้างต้น จะทำให้คนไทยหันมาเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นในราคาที่เป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น

Cr.greenpeace
thunkhaotoday
thainews