ดัชนีความร้อน Heat Index ความร้อนแรงสะเทือนค่าไฟ
ในช่วงหน้าร้อนปี 2023 มานี้หลายคนคงรู้สึกถึงความร้อนของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นมาก รวมถึงเริ่มได้ยินคำว่า “Heat Index” หรือดัชนีความร้อนกันมากขึ้น บางคนรู้จักคำนี้มานานแล้วแต่หลายคนอาจพึ่งรู้จักจากการเสนอข่าวของสื่อ ที่เห็นได้จากข่าวหลากหลายสำนักว่าดัชนีความร้อน Heat Index มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คนและสัตว์เป็นอย่างมาก ยิ่งคนที่ทำงานกลางแจ้งหรือผู้ใช้ร่างกายมักเกิดอาการลมแดด (Heat Stroke) กันมากทำให้หมดสติท่ามกลางความร้อนที่เป็นเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิต ยิ่งในเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่าในประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงจัดเกิน 40 องศาเซลเซียสกันหลายพื้นที่ ซึ่งนอกจากรายงานอุณหภูมิอย่างที่เราทราบกัน ยังมีรายงานเกี่ยวกับดัชนีความร้อน Heat Index ที่ร้อนเกินขนาดทะลุ 50 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว
ดัชนีความร้อน หรือ Heat Index คืออะไร?
ดัชนีความร้อน (Heat Index) คืออุณหภูมิที่ร่างกายคนเรารู้สึกตามความสัมพันธ์กันระหว่าง อุณหภูมิ และ ความชื้น กล่าวคืออุณหภูมิที่มนุษย์รู้สึกได้ว่าสภาวะอากาศขณะนั้นร้อนหรือเย็น ซึ่งไม่ตรงกันกับอุณหภูมิที่เกิดขึ้นแต่รวมถึงความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ เช่นหากอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส แต่มีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ 60 % ในดัชนีความร้อนนี้เราจะรู้สึกว่าอยู่ในอุณหภูมิถึง 56 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นความร้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ที่แสดงนั้นอยู่เงื่อนไขที่อยู่ในร่มเงาแต่หากกรณีสัมผัสกับแสงอาทิตย์โดยตรงค่าดัชนีความร้อนอาจเพิ่มขึ้นไปอีกถึง 8 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ซึ่งคนที่มีร่างกายไม่แข็งแรงหรือแข็งแรงเองก็มีผลต่อร่างกายดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด
ผลกระทบดัชนีความร้อน
27-32 องศาเซลเซียส อ่อนล้า อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะได้ หากมีกิจกรรมการแจ้งอาจเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนได้
32-41 องศาเซลเซียส ตะคริว เพลียแดดหากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานานอาจเกิดภาวะลมแดด Heat Stroke
41-54 องศาเซลเซียส ปวดเกร็ง เพลียแดด หน้ามืด หากทำกิจกรรมต่อเนี่ยงเสี่ยงต่อสภาวะลดแดด Heat Stroke
54 องศาเซลเซียสขึ้นไป เกิดสภาวะลมแดด หรือ Heat Stroke ได้ตลอดเวลา และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงวันที่ 20-21 เมษายน 2566 ที่ผ่านมาพบว่าหลายจังหวัดของไทยมีดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตรายและอันตรายมากได้แก่
ระดับอันตราย
- จ.เพชรบูรณ์ ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 41.7 องศา
- อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 41.5 องศา
- เขต บางนา กทม. ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 48.0 องศา
- จ.ชลบุรี ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 49.8 องศา
- จ.ภูเก็ต ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 47.6 องศา
ระดับอันตรายมาก
- เขตบางนา กทม. ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 54.0 องศา
- แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 54.0 องศา
- จ.ภูเก็ต ค่าคาดหมายดัชนีความร้อน 54.0 องศา
เมื่อดัชนีความร้อนที่มากขึ้นขนาดนี้ ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่หลีกเลี่ยงแสงแดด เปิดแอร์หรือพัดลมเพื่อป้องกันผลกระทบต่อร่างกายรวมถึงภาวะลมแดด(Heat Stroke) และด้วยความร้อนที่มากขึ้นนี้ ส่งผลต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง แอร์ ตู้เย็นทำให้ทำงานหนักมากขึ้นและทำให้อัตรากินไฟฟ้าก็มากขึ้นเนื่องจากต้องทำความเย็นให้ได้ตามอุณหภูมิที่ตั้งเอาไว้และรักษาความเย็นให้คงที่ เพราะความต่างของอุณหภูมิในห้องและนอกห้องมีผลต่อการทำงานของแอร์เนื่องจากแอร์ต้องนำพาความร้อนภายในห้องออกสู่นอกห้อง ยิ่งความร้อนจากนอกห้องสูงเท่าไรย่อมมีผลต่ออุณหภูมิภายในห้องไปด้วย ดังนั้นแอร์จึงทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย
จากข้อมูลของ MEA (การไฟฟ้านครหลวง) ได้มีการทดสอบการทำงานของแอร์ 1 ตัวขนาด 12,000 BTU โดยสูตรคำนวณตามสูตรของการไฟฟ้านครหลวง พบว่าเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้อัตราการกินไฟเพิ่มขึ้น 3% โดยทดลองนี้ได้ตั้งเครื่องปรับอากาศ ปรับอุณหภูมิภายในห้องที่ 26 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิภายนอกห้องมี 35 องศาเซลเซียส พบว่ามีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 0.69 หน่วยต่อชั่วโมงหากคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าในอัตราเฉลี่ยหน่วยละ 3.9 บาท จะคิดเป็นเสียค่าไฟฟ้าประมาณ 2.69 บาทต่อชั่วโมง หากอุณหภูมิภายนอกห้องร้อนขึ้นอีก 6 องศาเซลเซียสเป็น 41 องศาเซลเซียส จะทำให้เครื่องปรับอากาศใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.79 หน่วยต่อชั่วโมง หรือเพิ่มสูงขึ้น 14% และจะทำให้เสียค่าไฟถึง 3.08 บาทต่อชั่วโมง ดังนั้นจะเห็นได้ว่ายิ่งภายนอกร้อนเท่าไรก็จะยิ่งเสียค่าไฟฟ้ามากขึ้น และเพื่อให้สามารถทำความเย็นได้มีประสิทธิภาพแต่ยังคงบรรเทาทุกข์เรื่องค่าไฟได้อยู่ วันนี้ INNO มีเทคนิคเล็กๆน้อยๆ มาฝากกันดังนี้ครับ
เทคนิคประหยัดไฟจาก ดัชนีความร้อน
1.ล้างแอร์อย่างน้อยปี ละ 2 ครั้ง
ฝุ่นละอองสะสมจากการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ เคยสังเกตหรือไม่ว่าปรับอุณหภูมิแล้วแต่ไม่ค่อยเย็น ส่วนหนึ่งมาจากฝุ่นละอองนี้เองที่อุดตัน การระบายของลมทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้น กินไฟมากขึ้น
2.เปิดพัดลมในห้อง
หลายคนเข้าใจผิดว่าเปิดแอร์พร้อมพัดลมก็ต้องกินไฟมากขึ้นกว่าเดิม แต่แท้จริงแล้วหากเปิดพัดลมไปด้วยเราจะสามารถเพิ่มอุณหภูมิแอร์เพิ่มขึ้นได้โดยยังรักษาความเย็นเท่ากับการไม่เปิดพัดลม ซึ่งลมจากพัดลมนี้เองจะช่วยพัดความร้อนออกไปจากผิวหนัง ส่งผลให้เรารู้สึกเย็นกว่าปกติถึง 2-3 องศา ดังนั้นหากปกติเปิดเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซลเซียส เราก็สามารถปรับเพิ่มอุณหภูมิไปได้ 26-27 องศาเซลเซียสเลยทีเดียวทำให้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้นอีกด้วย
3.ไม่นำสิ่งที่มีความชื้นไว้ในห้อง
ปกติการทำงานความเย็นของเครื่องปรับอากาศจะใช้พลังงาน 70% ไปกับการกำจัดความชื้น เพื่อให้ห้องแห้งขึ้นนั่นเอง ดังนั้นการนำของที่ชื้นเช่น ตากผ้า หรือ ต้นไม้ไว้ในห้องจะส่งผลให้กินพลังงานเพิ่มขึ้นไปด้วย
4.ไม่นำของร้อนเข้าห้อง
ของร้อนเช่นอาหาร หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อนอย่าง เตารีด เครื่องทำกาแฟ ตู้เย็นและอื่นๆ จะทำให้อุณหภูมิภายในห้องร้อนสูงขึ้น ดังนั้นแอร์จึงต้องใช้พลังงานมากขึ้นตามไปด้วยเพื่อรักษาอุณหภูมิในห้องให้เย็น
5.ปิดเครื่องปรับอากาศก่อนออกนอกห้อง
ปิดแอร์ก่อนออกจากห้องอย่างน้อย 30-60 นาที ซึ่งยังช่วงคงความสบาย และประหยัดไฟอีกด้วย
สามารถรับชมเพิ่มเติมได้ใน อินโนเวช่าง (Live) ตอน ดัชนีความร้อนพุ่ง ทำแอร์กินไฟหนัก EP.1 ได้ที่นี่ คลิก! สนใจติดต่อเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02 941 4080 หรือ คลิกที่นี่ เพื่อให้เราติดต่อกลับ