“จุดเริ่มต้นอันดับแรกของความสำเร็จที่ยั่งยืน เริ่มจากผู้นำองค์กรกับการให้คำมั่นสัญญา ซึ่งนายแพทย์ชัชรินทร์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ได้กำหนดให้การอนุรักษ์พลังงานเป็นเรื่องหนึ่งของยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาล ซึ่งกำหนดในพันธกิจของโรงพยาบาลฯ หัวข้อ เสริมสร้างระบบบริหารจัดการให้มีความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและพอเพียง รวมทั้งมีระบบควบคุม ติดตาม ประเมินผลที่เหมาะสม”
โดยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อการประหยัดและอนุรักษ์พลังงานให้ประสบความสำเร็จ กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานในแต่ละปี ให้ลดลงต่ำกว่าปีที่ผ่านมาอย่างน้อย 10% และกำหนดให้เป็นภารกิจสำคัญที่ทุกหน่วยงานจะต้องถือปฏิบัติให้ชัดเจนจนเป็นรูปธรรม มีการติดตามและประเมินผลการอนุรักษ์พลังงาน โดยเสนอให้คณะผู้บริหารทราบอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายที่จะเป็นอาคารที่เป็นเลิศด้านการประหยัดพลังงานและเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานของภาคกลาง
นอกจากนี้ได้ทำป้ายประชาสัมพันธ์นโยบายฯ ติดตามจุดต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานได้รับทราบและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการติดตามผลการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด ได้กำหนดให้มีการประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้า โดยท่านผู้อำนวยการฯจะร่วมเป็นประธานการประชุม โดยคณะกรรมการด้านการอนุรักษ์พลังงานจะรายงานผลการดำเนินทุกเดือน ให้ความสำคัญเทียบเท่ากับการประชุมกรรมการบริหารโรงพยาบาลฯ อีกทั้งได้ลงพื้นที่ติดตามมาตรการอนุรักษ์พลังงานตามหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
การมีส่วนร่วม
การอนุรักษ์พลังงานของโรงพยาบาลฯ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุดถึงระดับปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานต่าง ๆ เกิดขึ้นมามากมายเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมอบรมสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์พลังงาน จนเกิดแนวร่วมที่จะช่วยกันอนุรักษ์พลังงานในหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่ ช่าง รปภ. แม่บ้าน จึงได้มีการเปิดรับสมัครแนวร่วมและแต่งตั้งเป็น สส.พลังงาน ซึ่งเป็นแกนนำรับผิดชอบการอนุรักษ์พลังงานในแต่ละพื้นที่ และสอดส่องดูแลการใช้พลังงานตามมาตรการที่ได้กำหนด และประสานงานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานให้เกิดการกระตุ้นเตือน และการปฏิบัติให้เป็นวัฒนธรรมการอนุรักษ์พลังงานในหน่วยงาน ได้จำนวน 360 คน อีกทั้งเป็นแนวร่วมสนับสนุนในการทำกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานต่าง ๆ ซึ่งได้รับการตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี อีกทั้งมีการให้เจ้าหน้าที่ร่วมประเมินการจัดการพลังงานของโรงพยาบาลฯ (Energy Management Matrix : EMM) และร่วมเสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการอนุรักษ์พลังงานให้ดียิ่งขึ้น
การปฏิบัติโดยสมัครใจ
นอกเหนือจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไข้เพิ่มเติม พ.ศ. 2550) แล้วนั้น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืนเกิดเป็นรูปธรรมกับสังคมและประเทศชาติ จึงได้มีการจัดประชาสัมพันธ์เผยแพร่การอนุรักษ์พลังงานสู่ภายนอกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงพยาบาล การเสวนาแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ประสบการณ์อนุรักษ์พลังงาน โดยร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน พลังงานจังหวัดสุพรรณบุรี และการสร้างเครือข่ายด้านการอนุรักษ์พลังงานภายในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยการเป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์กรต่าง ๆ เป็นต้น
ความยั่งยืนที่สำคัญคือการสร้างระบบที่ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วม และระบบที่เรานำมาใช้ในการบริหารจัดการพลังงานมีด้วยกัน 8 ขั้นตอน มีดังนี้
- การกำหนดโครงสร้างการจัดการพลังงาน
- การประเมินสถานะเบื้องต้น
- การกำหนดนโยบายและการประชาสัมพันธ์
- การประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน
- กำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งแผนฝึกอบรม
- ดำเนินการตามแผนฯ และตรวจสอบวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผน
- ตรวจติดตามประเมินระบบการจัดการพลังงาน
- การทบทวนผลการดำเนินการ โดยแต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดที่แตกต่างกันและมีความสำคัญทุกขั้นตอนซึ่งจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกันในการปฏิบัติงาน
บทความจาก อ.บัณฑิต งามวัฒนะศิลป์
ผู้บริหาร บริษัท อินโนเวชั่น เทคโนโลยี จำกัด
บริษัท อินโนเวชั่น เทคโนโลยี จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษางานระบบวิศวกรรม และบริหารงานบำรุงรักษาซ่อมแซมงานระบบวิศวกรรม รวมถึงงานบริหารการจัดการพลังงานภายในอาคาร สนใจติดต่อเพื่อรับข้อมูลด้านวิศวกรรมอาคารเพิ่มเติมได้ที่ 02 941 4080 หรือ คลิกที่นี่ เพื่อให้เราติดต่อกลับ