การบริหารจัดการพลังงานกับงานบำรุงรักษานั้น มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้นจะประหยัดพลังงานให้ได้ประสิทธิภาพและเกิดความสำเร็จแก่องค์กร เราต้องเอาใจใส่และเข้าใจเรื่องงานบำรุงรักษา (Preventive Maintenance: PM) เป็นอย่างดี
คำถาม…ทำไมเราต้อง PM ?
เหตุผลและจุดประสงค์หลักมีดังนี้
- PM เพื่อยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น
ตัวอย่าง กิจกรรม PM ที่พวกเราคุ้นเคยคือการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถยนต์เราจะไม่รอให้รถยนต์เสียแล้วจึงไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องดังนั้นการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเป็นประจำทุก 10,000 กิโลเมตร ก็เพื่อรักษาสภาพเครื่องยนต์และรถยนต์ให้วิ่งได้ดีต่อไป
- PM ลดค่าใช้จ่าย
เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน เพราะการบำรุงรักษาเพื่อยืดอายุการใช้งานเครื่องจักรอุปกรณ์นั้นก็สามารถลดค่าใช้จ่าย ลดค่าซ่อมแซม และการลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรที่เกิดขึ้นจากปัญหาขาดการบำรุงรักษา
ตัวอย่าง การไม่บำรุงรักษาแผงกรองอากาศหรือ filter ของเครื่องปรับอากาศห้องพักโรงแรม ก็จะทำให้ฝุ่นอุดตันที่ filter เกิดการบล็อกการไหลของอากาศผ่าน Evaporator Coil ทำให้เกิดน้ำแข็งเกาะ บน Evaporator Coil เกิดหยดน้ำและเกิดความเสียหาย ซึ่งไม่สามารถให้บริการได้ สะท้อนให้เห็นว่างาน PM ที่ดีนั้นจะทำให้ Downtime ของอุปกรณ์ลดลง มีผลต่อรายได้และความพึงพอใจ
- PM สามารถลดการใช้พลังงาน
การเกิดปัญหาการสลิปของสายพาน การสกปรกของมอเตอร์การอุดตันของ Air filter ก็จะส่งผลให้มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น
ตัวอย่าง จากกรณีศึกษาการประหยัดพลังงานเครื่องปรับอากาศในห้องควบคุมลิฟต์
ก่อนดำเนินการได้มีการตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 21 องศาเซลเซียส ลิฟต์มีการบำรุงรักษาตามแผนและสามารถใช้งานได้ตามปกติ เป็นการทำสัญญาบำรุงรักษาแบบรวมอะไหล่จากคู่มือและสเปค อุณหภูมิมาตรฐานห้องควบคุมหรือห้องเครื่องลิฟท์อยู่ระหว่าง 5 ถึง 40 องศาเซลเซียส และเมื่อดำเนินการประหยัดพลังงานได้มีการ ปรับตั้งอุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส ลิฟต์ไม่สามารถใช้งานได้ จึงมีการตรวจสอบถึงสาเหตุ พบว่า แผงวงจรควบคุมชำรุด และเมื่อทำการซ่อมแซมเปลี่ยนแผงวงจรก็สามารถปรับตั้งอุณหภูมิที่ 25 องศาเซลเซียส ลิฟต์สามารถใช้งานได้ปกติและประหยัดพลังงาน จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้ลิฟต์ใช้งานได้ปกติ ก็เพราะว่าอุณหภูมิห้องลิฟต์อยู่ที่ 21 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ IC ในแผงวงจรสามารถระบายความร้อนได้โดยไม่เกินค่ามาตรฐานพิกัดของตัวมัน ดังนั้น การทำงานบำรุงรักษาเชิงรุกที่สร้างสรรค์ (Proactive Maintenance) เป็นการเพิ่มกิจกรรมของงานบำรุงรักษาตามแผน (Planned Maintenance) ของเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีความสำคัญสูงด้วย (Predictive Maintenance) เพื่อลดปัญหาและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากงานบำรุงรักษานอกแผน (Unplanned Maintenance) ลง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญที่จะทำให้เครื่องจักรและอุปกรณ์มีความพร้อมและมั่นคงปลอดภัยน่าเชื่อถือในการใช้งานได้สูงสุด ด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
- PM สร้างประสบการณ์กับผู้ใช้
ตัวอย่างเช่น อาคารประเภทห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงแรม โรงเรียน ต้องมีการควบคุมรายละเอียดเพื่อให้ผู้ใช้งานเกิดประสบการณ์เชิงบวก หากเกิดปัญหาต่างๆ จะทำให้เกิดความไม่พึงพอใจ
- PM ทำให้งานอื่นๆง่ายขึ้น
เช่น PM ที่ดีนั้นก็จะทำให้การแจ้งซ่อมเวลากลางดึกน้อยลง
สรุป การบริหารงานบำรุงรักษาหลักที่สำคัญ คือ ผู้นำองค์กร ต้องเอาใจใส่และกำหนดนโยบายที่ชัดเจนต่อผู้ร่วมองค์กรโดยอาจเริ่มต้นจากการให้ความรู้ ความเข้าใจ ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะ ซึ่งจะทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อผู้ปฏิบัติงานบำรุงรักษาและองค์กรงานบำรุงรักษาที่ดีจะทำให้เราสามารถเพิ่ม Productivity ทั้งเครื่องจักร คน และกระบวนการทำให้เกิด Quality แก่สินค้าและบริการ ส่งผลให้มี Cost ที่เหมาะสมและคุ้มค่าการลงทุน และมีการส่งมอบที่ตรงเวลา (Delivery) ทำให้เกิดความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและสิ่งที่สำคัญ ทำให้เกิดขวัญกำลังใจของผู้ร่วมงาน